Panasonic แสงสว่างของญี่ปุ่น กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ครองใจคนไทยและแดนอาทิตย์อุทัยมากว่า 100 ปี

ไม่นานมานี้มีไวรัลที่ฮือฮาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือญี่ปุ่น นั่นคือไวรัลภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอายุหลัก 20 ปีขึ้นไปที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ในปี 2022 

หม้อหุงข้าว National ปัจจุบัน  Panasonic
“หม้อหุงข้าวที่คิดว่าจะซื้อใหม่ถ้ามันพัง เป็นเวลา 35 ปีแล้วที่คิดแบบนั้น ฉันใช้มาตั้งแต่รุ่นพี่สาว จากวันที่ซื้อมา จนถึงตอนนี้ก็ 39 ปีแล้ว มันไม่พังสักที… สักวันมันจะพังมั้ย? ยี่ห้อลึกลับนี้คือ National”
(คำแปลจาก: https://www.catdumb.com/world-news/74405

จนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบางคนคอมเมนต์ติดตลกว่า มันอาจจะเป็นบั๊กของผู้ผลิตที่ลืมใส่วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์เอาไว้ จึงได้ยืนอายุมานานปี และใช้งานได้ดีจนส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

สินค้ายี่ห้อนั้นชื่อ National

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณเป็นผู้อ่านวัยต่ำกว่า 20 ปี อาจไม่รู้จักสินค้ายี่ห้อนี้ งั้นเอาใหม่

สินค้ายี่ห้อนั้นชื่อ Panasonic

Panasonic โลโก้

ไม่ต้องตกใจ เพราะแบรนด์สินค้าสองยี่ห้อที่ว่าก็มาจากผู้ผลิตเดียวกันคือ Matsushita Group ทั้งทีวี หลอดไฟ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า หรืออะไรก็ตาม บริษัทนี้ผลิตหมด แต่อาจจะมียี่ห้อที่แตกต่างกันไปบ้าง

และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับPanasonic มากๆ คือ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ตามการเทรนด์โลก หรือเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์ที่โดดเด่นมากๆ ของPanasonic ในประเทศญี่ปุ่น

แต่การยืนระยะในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 104 ปีในประเทศญี่ปุ่น และ 68 ปีในประเทศไทย ย่อมมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ และเรื่องน่ารู้มากมายที่นำไปสู่ความสำเร็จของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่น่าจดจำ

สมกับแท็กไลน์ล่าสุดของบริษัทอย่าง A Better Life, A Better World.

โคโนสุเกะ มัทสึชิตะ และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า National ของเขา
โคโนสุเกะ มัทสึชิตะ และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า National ของเขา
หนุ่มน้อยผู้เห็นแสงสว่างของแดนอาทิตย์อุทัย

ปี 1894 (พ.ศ.2437) ถ้าไม่มีชายชื่อโคโนสุเกะ มัทสึชิตะ ก็จะไม่มีทางมีแบรนด์Panasonic จนถึงวันนี้ เพราะเด็กน้อยจากหมู่บ้านเล็กๆ ในโอซาก้า ที่สนใจรู้ในการประกอบธุรกิจและมุ่งมั่นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พ่อของเขาจึงเห็นแววและส่งเขาไปร่ำเรียนวิชาผ่านการฝึกงานในร้านจักรยาน

ความสนใจใคร่รู้ของพ่อหนุ่มผู้มีอนาคตไกลเตะตาพนักงานและเจ้าของร้าน เพราะเขาเป็นคนเรียนรู้งานเร็ว และเป็นเด็กที่สนใจในธุรกิจมากๆ จนเขาได้งานในบริษัทเกี่ยวกับไฟฟ้าแห่งหนึ่ง 

วันหนึ่งมัทสึชิตะประดิษฐ์ปลั๊กไฟฟ้าเพื่อนำไปเสนอหัวหน้างานของเขา แต่เขากลับโดนดูถูกว่ามันเป็นไอเดียที่แย่และไร้ประโยชน์มากๆ เขาจึงเก็บคำดูถูกเหล่านั้นมาเป็นแรงฮึดในการเปิดธุรกิจไฟฟ้าของตัวเอง เขาจึงร่วมมือกับภรรยาและพี่เขย (ที่ต่อมากลายเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไฟฟ้า Sanyo และโดนPanasonic ซื้อกิจการไปทีหลัง) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า

บริษัทใหม่ของมัทสึชิตะได้รับออเดอร์จากบริษัทไฟฟ้าใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อว่าจ้างให้เขาทำฉนวนสำหรับพัดลมไฟฟ้า ซึ่งผลงานก็เป็นที่น่าพึงพอใจจนเขาได้รับงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มัทสึชิตะจึงตัดสินใจทำบ้านสองชั้นเล็กๆ ของเขาให้เป็นห้องทำงานย่อมๆ เพื่อรองรับการผลิตจำนวนที่มากขึ้น

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตในตอนนั้นคือที่ใส่หลอดไฟ 2 แฉก ซึ่งเขาสามารถทำให้ต้นการผลิตถูกลงกว่า 30-50 เปอร์เซนต์ และนั่นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ภาพผู้ก่อตั้งบริษัท Matsushita Electric ชายที่อยู่ทางด้านซ้ายสุดของภาพคือ โคโนสุเกะ มัทสึชิตะ
ภาพผู้ก่อตั้งบริษัท Matsushita Electric ชายที่อยู่ทางด้านซ้ายสุดของภาพคือ โคโนสุเกะ มัทสึชิตะ
สินค้าคุณภาพดีจะขายดีเสมอ

ในยุคหนึ่งที่เรายังปั่นจักรยานเป็นการคมนาคมหลัก และไฟฟ้ายังไม่มีใช้งานอย่างทั่วถึง จึงทำให้ผู้คนไม่เห็นทางในเวลากลางคืนเพราะไม่มีแสงสว่างเพียงพอ นวัตกรรมที่ดีที่สุดในยุคนั้นก็ยังเป็นเทียนกับตะเกียงที่ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก และมีอัตราการให้แสงสว่างที่จำกัด นักปั่นหลายๆ คนจึงต้องหันไปพึ่งพาโคมไฟแบบใส่แบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง

ในปี 1923 (พ.ศ.2466) มัทสึชิตะที่เห็นช่องว่างตรงนี้ จึงพัฒนาโคมไฟหน้าสำหรับติดหน้ารถจักรยานที่สามารถใช้งานได้ดีกว่า เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความพยายามอยู่กว่า 6 เดือนจนได้โคมไฟทรงกระสุนที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะโคมไฟของมัทสึชิตะสามารถใช้งานได้กว่า 30-40 ชั่วโมงด้วยแบตเตอรี่เพียงก้อนเดียว!

เมื่อเขานำสินค้าไปนำเสนอขายตามร้านค้าต่างๆ เขากลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดีเพราะร้านค้าและลูกค้ายังไม่เข้าใจ และไม่เห็นประโยชน์ของสินค้า แต่ในความเชื่อหนึ่งของมัทสึชิตะที่ว่า “สินค้าคุณภาพดี จะขายดีเสมอ”​

เขาจึงมั่นใจที่จะนำอนาคตของบริษัทไฟฟ้ามัทสึชิตะมาเสี่ยงเพื่อการนี้ ด้วยการนำสินค้าให้ผู้จัดจำหน่ายลองใช้ ก็พบว่าสินค้านั้นคุณภาพดีจริงอย่างที่ได้โฆษณาไว้ จนทำให้ออเดอร์สินค้าเริ่มเข้ามามากขึ้นจนสามารถทำการตลาดในชื่อสินค้า Excel โดยเซ็นสัญญาขายสินค้าที่หน้าร้านไฟฟ้ายามาโมโต้ฯ เป็นเวลา 3 ปี

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของมัทสึชิตะในการสร้างผลิตภัณฑ์ดีๆ สักตัวคือ เขามักวางดินสอและกระดาษไว้เสมอข้างๆ ที่นอนเสมอ เพื่อจดไอเดียใหม่ๆ ระหว่างที่เขาจะหลับ

ก็พอเข้าใจได้ บางอย่างมันต้อง “จด” เพราะดีกว่า “จำ”

ป้ายโฆษณาหลอดไฟจักรยานแบบเหลี่ยม
ป้ายโฆษณาหลอดไฟจักรยานแบบเหลี่ยม
อยากให้สินค้าของเราขายดีระดับประเทศ

จากความสำเร็จของโคมไฟทรงกระสุน มัทสึชิตะจึงเริ่มพัฒนาโคมไฟหน้าจักรยานตัวใหม่ที่มีทรงเป็นสี่เหลี่ยมในปี 1927 (พ.ศ.2470) ถึงแม้ว่าเขาจะต้องทะเลาะกับร้านคู่ค้าเพื่อขอสิทธิ์การทำการตลาดคืนกลับมา เพราะร้านยามาโมโต้ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลัก ไม่ยอมใช้ไอเดียของมัทสึชิตะในการทำการตลาด เขาจึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อขอคืนสิทธิ์การทำการตลาดและวางขายสินค้าในร้านค้าอื่นๆ คืนกลับมา

มัทสึชิตะยังเชื่อในศักยภาพของผลิตภัณฑ์และตัวเขาเอง เขาจึงลองทำการตลาดด้วยการส่งโคมไฟไปให้ลูกค้าใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกว่า 10,000 ตัวอย่าง จนสุดท้ายเขาสามารถขายโคมไฟสี่เหลี่ยมนี้ได้กว่า 30,000 ชิ้นต่อเดือน

ซึ่งนั่นเป็นความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้น จนนำไปสู่ความฝันอันใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม นั่นคือการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงเป็นเหตุให้เขาเริ่มเปิดแผนก “พัฒนาสินค้าที่ใช้ความร้อน” เพราะในยุคนั้น สินค้าทำความร้อนเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันยังมีราคาแพง

นำไปสู่การพัฒนา “เตารีด” ที่เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยการขายราคาต่ำกว่าสินค้าจากแบรนด์อื่นๆ แต่มีคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งข้อท้าทายสำคัญของการผลิตเตารีดและขายในราคาต่ำคือ มัทสึชิตะต้องขายเตารีดให้ได้ 10,000 ตัว! เพื่อให้ไปถึงจุดคุ้มทุน

ถึงจะเป็นความท้าทายขนาดไหน สุดท้ายมัทสึชิตะก็พิชิตเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ

ไปให้ถึงระดับอินเตอร์ “เนชั่นแนล”

เมื่อมีผลิตภัณฑ์มากขึ้น ก็ต้องมีชื่อแบรนด์ที่ทำให้คนจดจำ

วันหนึ่งมัทสึชิตะกำลังอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อหาชื่อแบรนด์สินค้าที่ “ใช่” สักชื่อ จนเขาไปเจอคำว่า International และเมื่อเปิดพจนานุกรมจนเจอความหมาย เขาจึงเห็นภาพจินตนาการเครื่องใช้ไฟฟ้าของเขาจะเป็นที่นิยมในทุกครัวเรือน ทุกบ้านจะต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าของมัทสึชิตะ 

เขาจึงเลือกคำว่า National ที่แปลว่า “ระดับชาติ” มาเป็นชื่อสินค้าของเขา

เพื่อให้ National ไปได้จนถึงระดับ “National” จริงๆ

แต่น่าเสียดายนิดหน่อย เพราะเมื่อ National ต้องเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ดันมีบริษัทที่จดทะเบียนว่า National Electronics ไปแล้ว ทำให้มัทสึชิตะต้องขึ้นแบรนด์ใหม่ในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะนั่นคือPanasonic ก่อนจะมีการเปลี่ยนทิศทางการใช้ชื่อแบรนด์ “National” และ “Panasonic” ในเวลาต่อมา

จนสุดท้ายแบรนด์ National ก็ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงและหายไปในปี 2008 (พ.ศ.2551)เหลือแต่เพียง Panasonicให้เราได้จดจำจนขึ้นใจ

สงครามทำให้เราเริ่มใหม่

ผ่านมาอีกหลายสิบปี มัทสึชิตะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ ไปจนถึงวิธีการสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายเท่าที่จะเป็นไปได้ในยุคนั้น อย่างการเปิดนิตยสาร 2 หัวเพื่อฟังเสียงของผู้บริโภค (ซึ่งจริงๆ หนึ่งในนั้นคือแคตตาล็อกขายสินค้า) และสะท้อนภาพลักษณ์ของพนักงานในองค์กร รวมถึงการเปิดศูนย์ฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เป็นการสานต่อพันธกิจขององค์กรที่ดี และนั่นก็ทำให้บริษัทของมัทสึชิตะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงสงครามโลกที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแพ้สงคราม ในปี 1945 (พ.ศ.2488) มัทสึชิตะสูญเสียโรงงานไปกว่า 32 แห่งทั่วประเทศ

แต่โชคยังดีที่โรงงานหลักในโตเกียวและโอซาก้ายังเหลือรอดจากสงคราม นั่นทำให้หัวเรือใหญ่ของบริษัทไฟฟ้าที่เพิ่งฟื้นจากสงครามตัดสินใจว่า จะยกเลิกการผลิตสินค้าทั้งหมด และโฟกัสกับการฟื้นฟูประเทศด้วยการส่งพนักงานไปช่วยงานในส่วนต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หลังจากการฟื้นฟูประเทศจบลง มัทสึชิตะจึงกลับมาเดินสายผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าให้หลากหลายมากขึ้น จากที่เคยโดดเด่นในสินค้าทั้งหลอดไฟ วิทยุ คราวนี้ National ผลิตทั้งทีวี เครื่องซักผ้า และตู้เย็นเพื่อขยายตลาดให้หลากหลายกว่าเดิม

ผลิตภัณฑ์ AV ของ National และ Panasonic (ภาพจากโฆษณาโทรทัศน์)
ผลิตภัณฑ์ AV ของ National และ Panasonic (ภาพจากโฆษณาโทรทัศน์)
นวัตกรรมคือหัวใจสำคัญ

ด้วยความเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น จากความสำเร็จในการขายเตารีดกว่า 10,000 ตัวในระยะเวลาอันรวดเร็วเมื่อปี 1927 มัทสึชิตะจึงตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาขึ้น เพื่อพัฒนานวัตกรรมและสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีของPanasonic มีสินค้าและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดขึ้นมาซึ่งถูกต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม ตั้งแต่ไมโครเวฟที่ใช้พลังงานน้อยกว่าคู่แข่ง แบตเตอรี่กระดาษเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กที่บางกว่าถ่านไฟฉายทั่วไป เครื่องเขียนแผ่นดิสก์แบบลบได้ เป็นต้น

หรือในช่วงปี 2007 (พ.ศ.2550) ที่ภาวะโลกร้อนเริ่มถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง Panasonic ก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในคอนเซปต์ eco ideas ที่เน้นการลดคาร์บอนไดออกไซต์ในทุกกระบวนการผลิตจนถึงการใช้งานจริง ซึ่งแบรนด์ระบุว่า ทิศทางดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้กว่า 300,000 ตัน

หรือปัจจุบันที่Panasonic พัฒนา nanoe เทคโนโลยีไฟฟ้าประจุลบเพื่อป้องกันและกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคซึ่งบรรจุอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ไดร์เป่าผมที่ช่วยบำรุงให้ผมสุขภาพดี เครื่องปรับอากาศที่ช่วยยับยั้งฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 และเชื้อ COVID-19

หรือเครื่องฟอกอากาศที่ทำได้มากกว่ากำจัดมลพิษในอาคาร ไปจนถึงเครื่องปล่อยประจุ nanoe โดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง

ไดร์เป่าผม Panasonic nanoe (ภาพจากโฆษณาโทรทัศน์)
ไดร์เป่าผม Panasonic nanoe (ภาพจากโฆษณาโทรทัศน์)

เมื่อสรุปจากผลประกอบการของบริษัทพานาโซนิค เอ.พี.เซลล์  (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนภายใต้แบรนด์ Panasonic ย้อนหลัง 3 ปี จะพบว่าในปี 2562 สามารถทำกำไรได้ 13,900,403 บาท คิดเป็น 104.03 เปอร์เซนต์

ในขณะที่ปี 2563 กลับขาดทุนกว่า 10,730,093 บาท ซึ่งคิดเป็น 177.19 เปอร์เซนต์ แต่ในปี 2564 กลับพลิกกลับมาทำกำไรได้กว่า 39,444,222 บาท ซึ่งโตขึ้นกว่าปี 2562 กว่า 4 เท่า

และถ้าสำรวจตัวเลขของPanasonic ในไทยจะพบว่า ในปี 2563 คือปีแรกที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ประกอบกับการเปลี่ยนถ่ายโครงสร้างองค์กรของPanasonic ในประเทศไทย จึงทำให้ปี 2564 Panasonic กลับมามีกำไรได้อีกครั้ง

จากรายได้ของPanasonic ในประเทศไทย และไวรัลที่คนไทยสามารถจดจำผลิตภัณฑ์ของมัทสึชิตะได้ดี นั่นเป็นการยืนยันความสำเร็จของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เน้นคุณภาพผ่านการคิดมาอย่างดี และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เน้น “คุณภาพ” เป็นหลัก

Panasonic จึงยังส่องแสงสว่างอยู่ในใจคนไทยและคนญี่ปุ่นมาจนถึงวันนี้
ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า National และ Panasonic นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน (ภาพจากโฆษณาโทรทัศน์)
ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า National และ Panasonic นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน (ภาพจากโฆษณาโทรทัศน์)


References :

PANASONIC GLOBAL
PANASONIC
YOUTUBE
CATDUMB


You May Also Like :

9 Shares:
You May Also Like