ญี่ปุ่นกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อตามให้ทันกรอบเวลาการทดสอบการผลิตพลังงานที่ประเทศอื่นๆ วางไว้ โดยมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการลดคาร์บอน ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมออกกฎหมายเพื่อกระตุ้นการวิจัยและเร่งการทดสอบ ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟิวชันได้ภายในปี 2050 แต่ยังไม่ชัดเจนเรื่องกำหนดการทดสอบ ในขณะที่สหรัฐฯ และจีนมุ่งทดสอบการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2030 ส่วนอังกฤษเล็งในปี 2040
นิวเคลียร์ฟิวชันใช้ปฏิกิริยาเดียวกับที่เกิดในดวงอาทิตย์ โดยจะปล่อยพลังงานมหาศาลเมื่อนิวเคลียสของอะตอมรวมตัวกัน ในทางทฤษฎี เชื้อเพลิงฟิวชัน 1 กรัม อาจให้พลังงานเทียบเท่าน้ำมัน 8 ตัน โดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไฟฟ้าจากฟิวชันสำเร็จจึงอาจเปลี่ยนโฉมนโยบายนิวเคลียร์ญี่ปุ่นได้ เพราะปฏิกิริยาฟิวชันค่อนข้างปลอดภัย จะหยุดเองหากไม่เติมเชื้อเพลิงต่อเนื่อง ทำให้เกิดปฏิกิริยาควบคุมไม่ได้หรือหลอมละลายยาก และไม่สร้างกากกัมมันตรังสีที่มีอายุยืนยาว ต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่หยุดเดินเครื่องเพราะข้อกังวลด้านความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการพัฒนาฟิวชันเพื่อใช้เชิงพาณิชย์คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งอาจช้าเกินกว่าจะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ระบุในข้อตกลงปารีส ปี 2015 ซึ่งกำหนดให้จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และต่อให้ฟิวชันเป็นจริงได้ในเชิงพาณิชย์ ต้นทุนก็น่าจะสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนและนิวเคลียร์แบบเดิม เพราะต้องใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ทำจากวัสดุใหม่เทคโนโลยีสูง
ทั้งนี้ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาฟิวชันที่ใหญ่สุดในโลกอย่าง ITER ที่มี 35 ประเทศและภูมิภาค รวมทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปร่วมด้วย ก็ประสบปัญหาล่าช้าหลายปีจากแผนเดิมที่จะเริ่มเดินเครื่องในปี 2025 เนื่องจากปัญหาเรื่องชิ้นส่วนและปัจจัยอื่นๆ โดย ITER กำลังพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ แยกย่อยในแต่ละประเทศ ก่อนจะนำมาประกอบรวมกันที่ฝรั่งเศสในที่สุด ดังนั้น แม้ความท้าทายยังมีอีกมาก แต่ญี่ปุ่นก็ต้องเร่งวิจัยและกำหนดแผนในประเทศให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ตามหลังชาติอื่นในการแสวงหาโอกาสจากพลังงานแห่งอนาคตนี้
References :