ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกจากความพยายามของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คุณฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida)  หวังช่วยเหลือครัวเรือนจากภาวะเงินเฟ้อในสินค้าอุปโภคบริโภคที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการ กำหนดให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นอีก 31 เยน หรือ 3.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัจจุบันที่ 930 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 256 บาท) ปรับขึ้นเป็น 961 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 264 บาท)

โดยนายกรัฐมนตรี คุณคิชิดะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขึ้นค่าแรงจะสามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายหลักในการกระจายความมั่งคั่งไปยังกลุ่มประชากรเป็นวงกว้าง เพื่อให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

การตัดสินใจเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ต่างเสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 2% เพื่อชดเชยให้กับพนักงานที่ต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อ

คุณโยชิมาสะ มารุยามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การตลาด SMBC Nikko Securities กล่าวว่า “ด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มากกว่า 2% และศักยภาพในการเติบโตของญี่ปุ่นที่ประมาณ 1% การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงสมเหตุสมผล ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น” และ “สิ่งที่สำคัญคือการผลักดันค่าแรงให้สูงขึ้นในลักษณะที่ยั่งยืน แทนที่จะเพิ่มขึ้นแค่รวดเดียว” 

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 1,000 เยน (ประมาณ 275 บาท) หรือสูงกว่าให้ได้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ค่าแรงเฉลี่ยของญี่ปุ่นมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าตลาดแรงงานจะตึงตัวก็ตาม แต่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง ทำให้หลายบริษัทระมัดระวังเรื่องการเพิ่มต้นทุนคงที่ ซึ่งเป็นข้ออ้างในการระงับการขึ้นค่าแรงที่ผ่านมานั่นเอง


References :

Reuters

0 Shares:
You May Also Like