ญี่ปุ่นพบ “กรดอะมิโน กำเนิดสิ่งมีชีวิต” กว่า 20 ชนิด จากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Ryugu ซึ่งอยู่ห่างจากโลกกว่า 300 ล้านกิโลเมตร

ล่าสุด ญี่ปุ่นตรวจพบกรดอะมิโนมากกว่า 20 ชนิด ในตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยที่เก็บรวบรวมโดยยานสำรวจ Hayabusa 2 เมื่อปลายปี 2020 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก

ในระบบของสิ่งมีชีวิต กรดอะมิโนบางชนิดถูกใช้เพื่อสร้างโปรตีน แม้จะยังไม่แน่ชัดว่ากรดอะมิโนมาถึงโลกโบราณได้อย่างไร แต่มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าพวกมันมาจากอุกกาบาต เนื่องจากมีการตรวจพบกรดอะมิโนในอุกกาบาตที่พบบนโลก ทั้งนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่พวกมันจะถือกำเนิดเองที่นี่

ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้เป็นการยืนยันหลักฐานให้ทฤษฎีที่ว่ามีกรดอะมิโนหลายชนิดอยู่ในดาวเคราะห์น้อยในอวกาศ

เชื่อกันว่า ดาวเคราะห์น้อย เช่น ดาวเคราะห์น้อย Ryugu ถือกำเนิดในระบบสุริยะตั้งแต่ประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน การศึกษาดาวเคราะห์น้อยจึงเสมือนเป็นแหล่งศึกษาฟอสซิลของระบบสุริยะ ดังนั้น การรวบรวมกรดอะมิโนจากดาวเคราะห์น้อย หรือวัตถุในอวกาศอื่นๆ จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน NASA กำลังดำเนินการภารกิจที่คล้ายกันด้วยยาน OSIRIS-Rex ซึ่งจะเก็บรวบรวมตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย Bennu โดยคาดว่าจะเดินทางกลับมายังโลกภายในปี 2023

ญี่ปุ่นตกลงให้ความร่วมมือในภารกิจนี้ รวมถึงภารกิจระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อค้นหาเบาะแสเกี่ยวกับวิวัฒนาการของระบบสุริยะ และค้นหาต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

อนึ่ง ยานสำรวจ Hayabusa ของญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางกลับมายังโลกเมื่อสิบปีก่อน ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการนำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยกลับมา

ภารกิจต่อไปหลังจาก Hayabusa 2 คือภารกิจ MMX ซึ่งจะเป็นการเก็บรวบรวมตัวอย่างจาก ดวงจันทร์ Phobos (ดวงจันทร์ที่คาดว่าเป็นดวงจันทร์โดยธรรมชาติของดาวอังคาร) โดยมีกำหนดปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศในปลายปี 2025


References :

NIKKEI ASIA

0 Shares:
You May Also Like