บริษัท Fujitsu ร่วมกับ สถาบันวิจัย Riken ของญี่ปุ่นวางแผนเสนอควอนตัมคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทต่างๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2023 เป็นต้นไป
ซึ่งจะทำให้ Fujitsu กลายเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งแรกที่เตรียมจำหน่ายควอนตัมคอมพิวเตอร์ภายในประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศ Google ถือเป็นผู้นำในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องจักรแห่งอนาคตที่สามารถเพิ่มความมั่งคงของประเทศชาติได้
โดย Fujitsu ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยในเมืองวาโกะ จังหวัดไซตามะ เพื่อร่วมกันพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์กับทางสถาบันวิจัย Riken ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่ผ่านมา พร้อมมีนักวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมกว่า 20 คน ซึ่งบริษัทฯ กล่าวว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะพร้อมใช้งานภายในปี 2023 และคาดว่าจะสามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์ทิศทางทางการเงิน และการพัฒนาวัสดุหรือยาชนิดใหม่ๆ
อนึ่ง ควอนตัมคอมพิวเตอร์เร็วกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างมากในแง่ของความเร็วในการคำนวณ และมีศักยภาพที่จะปฏิวัติการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ อาทิ สารเคมี ยา รถยนต์ และการเงิน
ทั้งนี้ Fujitsu ได้เริ่มการวิจัยและออกแบบร่วมกับ Fujifilm ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยใช้หลักการคำนวณควอนตัม และวางแผนที่จะเพิ่มพันธมิตรเพื่อรวบรวมความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย
ขณะที่ IBM ได้ติดตั้งควอนตัมคอมพิวเตอร์ของตัวเองในเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาวะ ในปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าบริษัทญี่ปุ่นมีความล่าช้าในการติดตั้งควอนตัมคอมพิวเตอร์เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี Fujitsu จะกลายเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งแรกที่ผลิตควอนตัมคอมพิวเตอร์ในประเทศ ด้วยวิธีเช่นเดียวกับ Google และ IBM บริษัท Fujitsu จะใช้วิธีการคำนวณด้วยตัวนำยวดยิ่ง ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ 100% โดยไม่มีความต้านทานไฟฟ้าและไม่มีการสูญเสียพลังงาน ภายใต้อุณหภูมิเย็นจัด
นอกจากนี้ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ของ Fujitsu จะมีขนาด 64 คิวบิต มากกว่าของ Google ซึ่งพัฒนาในปี 2019 ขนาด 53 คิวบิต และเป็นอันดับ 2 รองจากของ IBM ซึ่งพัฒนาในปี 2021 ขนาด 127 คิวบิต โดยบริษัทฯ หวังว่าจะสามารถผลิตเครื่องที่มีขนาดมากกว่า 1,000 คิวบิตได้ในภายหลัง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2026 เป็นต้นไป
References :