ไม่มีใครเถียงว่ากาแฟคือหนึ่งใน Top 3 เครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก จะเป็นรองก็แค่น้ำเปล่ากับชาก็เท่านั้น โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการบริโภคกาแฟสูงมาก ต่อให้จะเป็นกาแฟกระป๋องก็ตามที 

มีสถิติว่าชาวญี่ปุ่นทั้งพนักงานออฟฟิศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือคนอีกหลากหลายช่วงวัย บริโภคกาแฟกระป๋องกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนกาแฟกระป๋องยี่ห้อหนึ่งสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 100 ล้านกระป๋องต่อเดือน!

ส่วนร้านกาแฟหรือ Coffee Shop ก็ไม่น้อยหน้า สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว มันคือพื้นที่สำหรับสนทนา ทำงาน เคล้ากลิ่นหอมๆ และรสชาติอร่อยของกาแฟก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือแบรนด์ท้องถิ่นก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ที่สำคัญคือ มีร้านกาแฟไทยแห่งหนึ่งสามารถเฉิดฉายอยู่ในใจกลางเมืองโตเกียว ด้วยเสน่ห์จากกาแฟไทยรสชาติมีเอกลักษณ์ บรรยากาศที่ยกความเป็นเชียงใหม่ได้อย่างครบถ้วนมาอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องเดียว ซึ่งเป็นความตั้งใจจากชายคนหนึ่งที่อยากให้วงการกาแฟไทยมีที่หยัดยืนมากกว่าในประเทศไทย

ลี-อายุ จือปา คือผู้ก่อตั้ง Akha Ama (อาข่า อ่ามา) แบรนด์กาแฟที่มีแหล่งผลิตต้นกำเนิดจากดอยสูงบนจังหวัดเชียงราย เล็งเห็นว่ากาแฟคือพืชพิเศษที่มีผลพันธุ์ออกมาเป็นเครื่องดื่มชั้นดีที่คนทั่วโลกดื่ม หรือพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ปัจจุบันอาข่า อ่ามา กลายเป็นแบรนด์กาแฟไทยที่มีตัวตนในวงการกาแฟไทย เขาเปิดหน้าร้านที่จังหวัดเชียงใหม่หลายสาขา เมล็ดกาแฟและตัวของลีได้รับการยอมรับบนเวทีโลก ทั้งการเป็นกาแฟเพื่อ “ชิม” ในเวทีประกวดกาแฟหลายประเทศที่แถบยุโรป รวมถึงตัวของเขาก็ได้นั่งเป็นคณะกรรมการของสมาคมกาแฟพิเศษไทย ซึ่งเป็นกลุ่มคนผลิตกาแฟ และปราชญ์เรื่องกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

รวมถึงการแผ่ขยายความอร่อยของกาแฟไทยไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย 

อาข่า อ่ามา ผ่านเวลามาถึง 12 ปี ลียังคงรักษาจุดยืนเดิมของแบรนด์ได้ดี นั่นคือการทำให้กาแฟไทยมีที่ยืนในตลาด การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแก่คนในชุมชน พร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อมคู่กับการให้คนทั้งโลกได้เห็นศักยภาพของกาแฟไทย

12 ปีไม่ใช่เวลาที่นานเลย

แต่เมื่อลีพูดถึงความสำเร็จที่เขาลงความพยายามลงไปในการทำร้านกาแฟร้านนี้

“มันไม่ใช่อาชีพ แต่มันคือแรงบันดาลใจ” เขาบอกอย่างนั้น

มั่นใจ คุณทำได้

ฉากหลังของภาพยนตร์ชีวิตเรื่องยาวของลี เริ่มจากลีที่เกิดในบ้านแม่จันใต้ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงใหม่

‘แทบจะเหนือสุดของประเทศแล้ว’

การอยู่บนดอยซึ่งมีความเจริญเข้าถึงไม่ได้มาก ลีจึงต้องต่อสู้อย่างถึงที่สุดตั้งแต่การใช้ชีวิตที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดมาทำงานบ้าน พาน้องๆ ที่บ้านไปเรียนหนังสือ กลับมาก็ต้องช่วยงานที่บ้านพร้อมๆ ไปกับการเรียนภาษาไทย

จนถึงชั้น ป.6 ลีขอครอบครัวเรียนต่อ เพราะความเป็นคนบนพื้นที่สูงจึงทำให้การเรียนต่อเป็นเรื่องใหญ่มากๆ แต่โชคดีที่พ่อและแม่ของลีเห็นคุณค่าของการศึกษา จึงทำให้ลีได้บวชเรียนภาคฤดูร้อนสั้นๆ และได้เรียนต่อในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่พอเอาภาษาไทยแบบเรียนเองไปใช้จริงในโรงเรียนด้วยการแนะนำตัวหน้าห้องครั้งแรก เขากลับโดนหัวเราะเยาะจากเพื่อนฝูง

ถึงตรงนี้เราก็ไม่แน่ใจแล้วว่า ลียังคิดว่าตัวเองโชคดีอยู่มั้ย

ลีจึงขอคุณครูเรียนภาษาไทยภาคพิเศษทุกเย็น และขอหลวงพ่อซื้อเครื่องอัดเสียงเล็กๆ เพื่อฟังว่าตัวเองพูดภาษาไทยชัดขึ้นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ และต้นไม้เพื่อฟังเสียงของตัวเอง

เมื่อถึง ม.ปลาย ลีลาสิกขาจากการเป็นเณรและได้ใช้ชีวิตที่ต่างออกไปผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกรั้วสถาบัน จนเริ่มเห็นโลกที่กว้างใหญ่ขึ้น และได้เห็นอีกว่าภาษาอังกฤษคือกุญแจสู่โลกใบใหญ่ที่สำคัญมากๆ

“วันข้างหน้าภาษาอังกฤษจะเป็นพาสปอร์ตของเธอ” ครูของลีว่าไว้แบบนั้น

ลีจึงฝักไฝ่ในการเรียนภาษาอังกฤษมากๆ ในช่วงเวลามหาวิทยาลัย ประกอบกับความเป็นคนที่ตั้งใจเรียนอย่างเข้มข้น ทำให้ลีได้เกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.98 ในเทอมแรก และจบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยเกียรตินิยมอันดับสอง

การทำงานปะทะสังสรรค์กับผู้คน และความยั่งยืนในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่ลีทำกิจกรรมในโรงเรียน ลีได้มีโอกาสเจอผู้ใหญ่จากมูลนิธิและองค์กรเพื่อสังคมทั้งในและต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง การทำกิจกรรมเหล่านั้นค่อยๆ ปลูกฝังให้ลีเป็นคนอยากทำงานเพื่อสังคม

จนเมื่อลีจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เขาเริ่มงานแรกในชีวิตที่มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ที่ได้เงินเดือน  9,000 บาท ตลอดสามปีที่มูลนิธิลีได้ทำงานช่วยเหลือผู้คนและเยาวชนอย่างที่ใจเขาต้องการ 

แต่การทำงานที่ต้อง “ปะทะสังสรรค์” (การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน) ตามคำเรียกของนักกิจกรรมหรือคนในวงการ NGO ทำให้ลีได้เห็นว่า การช่วยเหลือผู้คนควรจะต้องมีมิติอะไรที่มากกว่าแค่ไปช่วยเหลือเป็นครั้งๆ ไปสิ เพราะว่าการทำงานที่เติมหัวใจเขาให้พองโตอยู่ตลอดเวลา ปัญหาเชิงโครงสร้างกลับไม่ถูกแก้ไขเลย

“ความยั่งยืน” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ลีตระหนักและอยากทำอะไรมากกว่านั้น และกุญแจดอกใหม่ที่เป็นโอกาสของเขาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคือ การเกษตร ซึ่งลีกลับนึกถึงกาแฟ ที่เป็นผลจากการค้นหาต้นทุนทางวัฒนธรรมในถิ่นกำเนิดของเขา

ลีเคยให้สัมภาษณ์ใน Modernist ถึงการเลือก “กาแฟ” เป็นพระเอกในการช่วยเหลือเพื่อนในชุมชนไว้ว่า “วันหนึ่งเรามามองว่าถึงจุดหนึ่งที่เราจะต้องช่วยคนขึ้นมา เรารู้เลยว่าถ้าเกิดเขาอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องช่วยเขา แล้วคำถามคือ เราจะทำยังไงให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องหาวิธีทำให้เขาพัฒนาอาชีพ ความรู้ และฐานะ

“กาแฟเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ ทุกคนกิน แล้วกาแฟเป็นสิ่งที่มีค่าที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนได้ พูดถึงมูลค่าการแลกเปลี่ยนเป็นรองแค่น้ำมัน แล้วมีผู้คนมากมายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้เป็นล้านๆ คน พี่รู้สึกว่าการทำกาแฟน่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราได้ทำงานเพื่อสังคม แค่นี้เลย”

คนไม่กินกาแฟ ทำธุรกิจกาแฟ

แต่ปัญหาคือ ลีไม่กินกาแฟ

ผลไม้มหัศจรรย์ที่ผลสามารถให้น้ำสีน้ำตาลดำรสชาติขม-เปรี้ยว มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ความกระปรี้กระเปร่าเมื่อได้ดื่มมัน ยิ่งกาแฟเป็นหนึ่งในสามอันดับเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก

คนไม่กินกาแฟ กลับเห็นโอกาสในการช่วยเหลือสังคมจากกาแฟได้ยังไง

ลีมองว่า ด้วยกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่ผู้ปลูกกาแฟกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของโลกเป็นครอบครัวเกษตรกรรายย่อย นั่นเท่ากับว่าการทำงานกับกาแฟ ลีจะได้พบเจอผู้คนจริงๆ ที่ทำงานกับกาแฟ โดยเฉพาะบ้านแม่จันใต้ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของลีที่ปลูกกาแฟอย่างเป็นล่ำเป็นสันกว่าทศวรรษ

เหมือนจะดีที่มีแหล่งปลูกกาแฟอยู่ใกล้ตัว แต่ปัญหาคือ เกษตรกรกลับไม่ได้เข้าใจถึงคุณค่าของกาแฟอย่างแท้จริง และการถูกกดราคาผลผลิตอย่างไม่เป็นธรรม

ลีลงไปคุยกับชาวบ้านด้วยตัวเองและลอง “กินกาแฟ” จากชาวบ้าน หลังจากที่ตระเวนกินกาแฟทั่วเชียงใหม่และค้นพบว่ากาแฟอร่อยมาก! และเห็นความตั้งใจที่อยากขับเคลื่อนกาแฟของชาวบ้านให้เป็นกาแฟที่สมบูรณ์ ลีจึงตัดสินใจตั้งแบรนด์กาแฟที่ชื่อ “อาข่า อ่ามา” พร้อมๆ กับลาออกจากงานประจำ

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการหาเงินทุนเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้ โชคดีมากที่งานเก่าของลีทำให้เขาเจอผู้คนมากหน้าหลายตา จึงทำให้เขารวบรวมความกล้าและแผนธุรกิจบนหน้ากระดาษไปเสนอนักลงทุน

แต่นักลงทุนธรรมดาว่าหายากแล้ว นักลงทุนอิสระยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ 

โชคดีที่ลีเจอครอบครัวที่สวิสเซอร์แลนด์ช่วยให้การสนับสนุนในช่วงแรก จากการนำเสนอแผนธุรกิจที่มีจุดอ่อน มีคู่แข่ง และแผนที่วาดฝันเอาไว้แทบทำไม่ได้ แต่ครอบครัวนักลงทุนนั้นกลับเห็นถึงความเป็นไปได้ และเห็นพลัง เห็นความตั้งใจในแผนธุรกิจนี้

ลีย้ำมากๆ เลยว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเครื่องมือที่คุณมีอยู่ในมือและแผนธุรกิจจะเป็นกลไกให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ

การต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง

“แน่ใจนะ”
“ไหวนะ”
“มาถูกทางใช่ไหม”

คำถามเหล่านี้อยู่ในหัวของลีตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านกาแฟ ซึ่งจริงๆ อุปสรรคมันเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกทำเลร้านที่เป็นที่ตาบอดทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่คือ ซอยหัสดิเสวี 3 การต่อสู้กับกาแฟจากต่างประเทศและคาเฟ่ด้วยกันเอง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้คนต้องประหยัด การซื้อกาแฟแบรนด์น้องใหม่ที่ไม่มีตัวตนในตลาดจึงกลายเป็นโอกาสที่ยากมากๆ

แต่ลีบอกว่า ต้องอย่าหยุด

การค่อยๆ แก้ปัญหาทีละเปลาะๆ เริ่มต้นจากการหาจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ที่สุดท้ายก็กลับมาหาจุดที่เรียบง่ายที่สุดคือ การไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า

ลีเลยนำเมล็ดกาแฟส่งเข้าประวกดกับองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป เพื่อพิสูจน์คุณภาพในเมล็ดกาแฟของเขา

“กาแฟไทยมันไม่ได้ชงแค่กาแฟเย็น มันสามารถทำได้ แต่จะทำยังไงให้เกิดการยอมรับ ก็ต้องใช้เวทีระดับโลกในการสร้างให้คนรู้” ลีกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของ Modernist ซึ่งสุดท้ายเมล็ดกาแฟจากอาข่า อ่ามา กลายเป็น 1 ใน 21 แบรนด์กาแฟที่ถูกเลือกสำหรับใช้ชิมบนเวทีนานาชาติ

ลีเล่าให้เราฟังว่า เหตุผลที่เมล็ดกาแฟของเขาได้รับเลือก เพราะว่ากรรมการเห็นถึงโอกาสในการเติบโตจากเมล็ดกาแฟคุณภาพดี มีรสสัมผัสที่หลากหลาย และเมื่อเขาเห็นป้ายแบรนด์ “อาข่า อ่ามา” ติดอยู่บนเวที นั่นทำให้เขาภูมิใจและชื่นใจเป็นอย่างมาก

อีกหนึ่งวิธีการที่ลีบอกว่า สิ่งนี้ไม่มีอยู่ในคู่มือการประกอบธุรกิจเล่มไหนเลยคือ การที่ลีเอากาแฟที่เขาชงไป “แจกฟรี” ที่ย่านการค้าในเชียงใหม่ เช่น ถนนนิมมานเหมินทร์ หรือประตูท่าแพ โดยตั้งธงไว้ว่าแต่ละครั้งจะต้องได้ “เพื่อนใหม่” อย่างน้อย 5 คน 

ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นเรื่องไม่จำเป้น

ลีเคยนับนิ้วแล้วบอกว่า จากการแจกกาแฟ 100 ตัวอย่าง มีราว 7-8 คนกลับมาหาเขาที่ร้าน แล้วก็กลายเป็นการบอกต่อแบบปากต่อปาก จนมีลูกค้าเข้าหาลีเรื่อยๆ 

ยิ่งนับรวมกับการการันตีคุณภาพบนเวทีระดับโลก แทบไม่ต้องพูดถึงต่อแล้วว่าอาข่า อ่ามา ได้รับความนิยมแค่ไหน

กาแฟไทยไปญี่ปุ่น

เมื่อเวลาผ่านไป หลักเดือน หลักปี จนหลักสิบปี อาข่า อ่ามา ค่อยๆ มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รีวิวมากมายยืนยันในคุณภาพของกาแฟ ตัวลีเองได้รับเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หรืองานอบรมธุรกิจและผู้ประกอบการกาแฟต่างๆ

แต่การทำธุรกิจไม่มีวันหยุด นอกจากการประกอบกิจการให้เดินต่อได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ตัวแปรสำคัญคือ การเรียนรู้ของเจ้าของธุรกิจที่ต้องศึกษาเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ

ลีกล่าวกับ Modernist ว่า “การที่เราไม่รู้ แต่เรามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้และฝึกฝนให้มันชำนาญเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะพี่รู้ว่าเรารู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางว่าเราจะรู้ทุกเรื่อง พอเราเชื่อแบบนั้นทำให้เราต้องเรียนรู้ในทุกๆวัน ทุกวันนี้ยังต้องเรียนรู้อยู่เลย เราเข้าไปหาชาวบ้านหลายวัน เรารู้ว่าต้นกาแฟยังไม่สมบูรณ์ จะทำยังไงให้มันสมบูรณ์ขึ้น ไร่กาแฟเขามี แต่ทำยังไงให้เมล็ดกาแฟเพิ่มความหวานให้เขาบ้างสิ่ง เหล่านี้เราเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เรารู้นิสัยเขามากขึ้น เผลอแป๊บเดียวผลผลิตที่ออกมามันดีขึ้น”

การเดินทางของลีและอาข่า อ่ามา คือเส้นทางที่ทำให้เขาได้พบเจอกับเพื่อนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากกาแฟที่เป็นหัวใจหลักแล้ว การจัดทริปกาแฟที่ลีทำบ่อยๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2013 ซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับอาข่า อ่ามา เป็นอย่างมาก ลีได้พบกับเพื่อนร่วมจัดทริปที่เป็นสามีภรรยาจากญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นเพื่อนกันในเวลาต่อมา 

นัตซึสะ ยามาชิตะ และจุนเป อิชิคาวะ คือเพื่อนคนที่ว่าของลี

ทั้งสองได้ชิมกาแฟที่ร้านอาข่า อ่ามา ก่อนจะตะลึงในรสชาติแสนอร่อย และด้วยทั้งสองเคยมาร่วมทริป Coffee Journey ของลีอยู่แล้ว นัตซึสะ จุนเป และลี จึงกลายเป็นเพื่อนสนิทกันไปโดยปริยาย

ด้วยวาระที่อาข่า อ่ามา ครบรอบ 10 ปีพอดี ลีจึงอยากท้าทายตัวเองด้วยการเปิดร้านกาแฟในพื้นที่ๆ ต่างออกไปจากจังหวัดเชียงใหม่ และด้วยลีถูกจริตกับประเทศญี่ปุ่นที่ก็เป็นเมืองกาแฟซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร รวมถึงชาวอาทิตย์อุทัยก็เป็นแฟนของอาข่า อ่ามา เช่นกัน ลีจึงชักชวนนัตสึซะและจุนเปหุ้นเปิดร้านด้วยกัน

“รอคำถามนี้มานานแล้ว” สองสามีภรรยาประสานเสียง

และการเปิดร้านอาข่า อ่ามา สาขาโตเกียว ก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

นัตสึซะและจุนเปจึงบินมาหาลีที่เชียงใหม่เพื่อเตรียมงานโดยใช้เวลาเพียง 10 วัน ประกอบกับการหาหน้าร้านก็เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วในย่านชินจูกุ 

ถึงแม้ว่าในช่วงแรก หน้าร้านอาข่า อ่ามา สาขาโตเกียวจะซบเซาไปบ้างเพราะสถานการณ์โรคระบาด แต่เมื่อทุกอย่างค่อยๆ ทุเลาลง แฟนๆ กาแฟแบรนด์ไทยแบรนด์นี้ในญี่ปุ่นก็เริ่มตบเท้าเข้ามาจิบกาแฟแสนอร่อยจนร้านค่อยๆ ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ

Facebook Akha Ama Coffee Japan
Lesson Learned

บทสรุปของภาพยนตร์ที่ยังไม่จบเรื่องนี้ ลีได้ให้ทรรศนะไว้ว่า มันต้องย้อนกลับไปที่จุดประสงค์แรกที่มีอยู่สองประการคือ การสนองความฝันของตัวเอง ที่ยึดโยงไปถึงการช่วยเหลือสังคมที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกัน

“เราดึงน้องๆ จากชุมชนมาทำงานร่วมกัน เราดึงน้องๆ จากในเมืองที่มีพลังมาร่วมกัน เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันคือการร่วมกันสร้าง มันไม่ใช่แค่พี่ทำ มันเกิดจากการที่ทุกๆ คนที่มีส่วนร่วมกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ความหมายของพี่คนเดียว แต่เป็นความหมายร่วมของทุกๆ คนที่อยากเห็นสังคมมันดีขึ้น ดีขึ้นผ่านอะไรล่ะ

เช่น เราทำกาแฟ เราก็เห็นแล้วว่าทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่ของกาแฟ มันเติบโตไปได้ตั้งแต่คนปลูกกาแฟ แปรรูปกาแฟ คั่ว ชง ใช่ไหมครับ หรือแม้แต่คนที่บริโภคกาแฟเองก็ได้รับในสิ่งที่มันดีมีคุณภาพ ฉะนั้นมันมีเหตุผลอะไรล่ะที่มันจะไม่มีพลังไม่มีแรงในการทำ เรารู้สึกว่าท้ายสุดแล้วเราอยู่ได้สังคมอยู่ได้มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเราอยู่ได้แต่มองไปอีกด้านหนึ่งคนอื่นอยู่ไม่ได้เลย” ลีขยายความไว้ในบทสัมภาษณ์จาก Modernist

และเมื่อวิเคราะห์เรื่องราวของลีแล้ว กิจการกาแฟเพื่อสังคมนี้ยังสอดรับกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในข้อที่ 8 ด้วยการสร้างอาชีพเพื่อก่อให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนจากโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่ลีได้พัฒนาไว้

เพราะความชัดเจนในการอยากเห็นสังคมดีขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเปลี่ยนแปลงวงการกาแฟไทย ให้กาแฟไทยมีจุดยืนได้ นี่คือบทเรียนที่เราได้รับจากกาแฟแบรนด์ไทยเล็กๆ ที่ค่อยๆ ขยายเขตคามไปสู่พื้นที่ๆ กว้างใหญ่ขึ้น

และทำให้ผู้คนหลงรักกาแฟไทยได้อย่างถอนตัวไม่ขึ้นด้วยเช่นกัน


References :

คอลัมน์ a day with a view โดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์, นิตยสาร a day ฉบับที่ 155 ประจำเดือนกรกฎาคม 2556

modernist


You May Also Like :

0 Shares:
You May Also Like