บริษัทญี่ปุ่นอย่าง Nissin Foods ขับเคลื่อนนวัตกรรมในอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกที่คาดว่าจะเติบโตแตะ 8.8 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2050 โดยครองอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ในมูลค่าสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมนี้ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
จากการสำรวจสิทธิบัตรที่ยื่นโดยบริษัทและสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก โดย Nikkei ร่วมกับ Patent Result บริษัทวิจัยในโตเกียว พบว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน สหรัฐฯ ครองอันดับ 1 ด้วยคะแนนรวม 4,340 คะแนน ตามด้วยญี่ปุ่น 2,570 คะแนน สวิตเซอร์แลนด์ 1,740 คะแนน และจีน 1,651 คะแนน โดยมีบริษัทญี่ปุ่น 3 แห่งติดอันดับ 20 อันดับแรก ได้แก่ Fuji Oil, Amano Enzyme และ Nissin Foods Holdings
Fuji Oil ซึ่งครองอันดับ 2 ถือครองสิทธิบัตรการผลิตเนยและชีสจากพืช โดยเป็นผู้นำตลาดโปรตีนทดแทนตั้งแต่เริ่มขายเนื้อสัตว์ทดแทนจากถั่วเหลืองในปี 1969 และเพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อถั่วเหลืองที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงเนื้อจริงในปี 2022 ส่วน Nissin Foods ซึ่งอยู่อันดับ 16 เป็นบริษัทแรกในญี่ปุ่นที่สร้างเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องแล็บให้รับประทานได้ และตั้งเป้าผลิตสเต็กที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์กล้ามเนื้อวัวภายในปี 2025 โดยถือครองสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนจากถั่วเหลืองและข้าวสาลี
ทั้งนี้ การเติบโตของประชากรโลกและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ กำลังผลักดันการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดโปรตีนทางเลือก โดย Mitsubishi Research Institute คาดการณ์ว่า ตลาดเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องแล็บจะแตะ 138 ล้านล้านเยน (8.8 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2050 เพิ่มขึ้น 12 เท่าจากปี 2025 และคิดเป็น 57% ของตลาดเนื้อสัตว์ทั้งหมด ซึ่งโปรตีนทางเลือกถือเป็นการเสริมอุปทานอาหารของโลก ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความยั่งยืนของการเลี้ยงสัตว์ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์ได้อีกด้วย
References :