ล่าสุด Farmship บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถวิเคราะห์และประเมินศักยภาพการเติบโตของ เมล็ดพันธุ์ผักโขม ได้ หวังช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียอาหาร

โดยระบบของเทคโนโลยี AI นี้ จะใช้ภาพถ่ายเพื่อประเมินความสูง ความกว้าง และน้ำหนักของ เมล็ดพันธุ์ผักโขม และคาดการณ์การเติบโตในอนาคต จากนั้นจะกำจัดเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพไม่ดีพอ พร้อมระบุว่าต้นใดจะเติบโตได้มากที่สุด ทำให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งบริษัทระบุว่าเทคโนโลยีนี้สามารถเพิ่มอัตราส่วนการเติบโตอย่างเหมาะสมของเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 80% และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 17%

ซึ่งแม้ว่าระบบการทดลองใช้งานในปัจจุบัน ยังคงต้องอาศัยแรงงานมนุษย์ในการถ่ายภาพและย้ายต้นกล้า อย่างไรก็ตาม Farmship กล่าวว่าบริษัทกำลังดำเนินการพัฒนาเพื่อทำให้ระบบกลายเป็นระบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์อย่างสมบูรณ์ภายในสองปีข้างหน้า ก่อนจะนำเทคโนโลยีทั้งหมดไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทเลือกผักโขมสำหรับการทดลอง เนื่องจากราคาจำหน่ายต่อหน่วยค่อนข้างสูง และคาดว่าความต้องการเพาะปลูกในโรงงานผลิตพืชจะเพิ่มขึ้น พร้อมระบุว่าสามารถปรับเทคโนโลยี AI นี้ให้เข้ากับผักใบชนิดอื่นๆ รวมถึงผักกาดหอมได้ด้วย เพียงเปลี่ยนชุดข้อมูลสำหรับโมเดล AI

อนึ่ง ตลาดพืชผักที่ปลูกในโรงงานของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีมูลค่ากว่า 2 – 3 หมื่นล้านเยน (5 – 7 พันล้านบาท) ขณะที่ตลาดโลกสำหรับอุปกรณ์และระบบโรงงานกำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1.72 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.9 ล้านล้านบาท) ในปี 2026 ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย Global Information


References :

NIKKEI ASIA


You May Also Like :

0 Shares:
You May Also Like